วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติ และข้อคิด จากการทำงานที่ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มก.

นนทวัฒน์ จันทร์เจริญ

คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้เริ่มเปิดสอนคอมพิวเตอร์ ครั้งแรกในปี พ.ศ 2526 โดยยังเป็นสาขาย่อยในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า (ไฟฟ้ากำลัง ไฟฟ้าสื่อสาร อิเล็กทรอนิกส์ ระบบควบคุม และ คอมพิวเตอร์) มีห้องปฎิบัติการวิจัยไมโครคอมพิวเตอร์ รองรับการทดลองของนิสิต และการวิจัยของอาจารย์ ซึ่งในสมัยแรกๆ มีนิสิตสนใจเรียนประมาณรุ่นละ 15 คน และ มีอาจารย์ประจำเพียง 5-6 คน เท่านั้น

ต่อมาในปี พ.ศ 2529 ได้เริ่มเปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์โดยตรง ซึ่งให้อยู่ภายใต้การบริหารของโครงการจัดตั้งภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่มีผมเป็นประธานคณะทำงาน โดยต้องทำหน้าที่ในการเขียนโครงการ และ แผนงาน เพื่อขออนุมัติตามลำดับชั้นในการก่อตั้งภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ พร้อมกับวางแผนออกแบบและเตรียมสถานที่ในอาคารบริหารหลังใหม่ซึ่งกำลังก่อสร้าง (ปัจจุบันคือ อาคาร 1) เพื่อเป็นสถานที่ทำการ

imageimage

หัวหน้าภาควิชาคนแรกของภาควิชาวิศวกรรม

ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการ(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2532 และ ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าภาควิชาคนแรก พร้อมกับการโอนย้ายอาจารย์ประจำมาจากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าจำนวน 12 คน

วิชาที่สอน ที่ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

ระดับปริญญาตรี

ได้แก่วิชา Software Engineering Introduction to Computer Programming Basic Concept and Application of Computer และ Information Technology for Engineers

ระดับปริญญาโท

ได้แก่วิชา Information Systems for Organization

เริ่มด้วยการหารายได้ให้ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

เมื่อรับหน้าที่หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์นั้น ผมมีแนวคิดจะทำโครงการใหม่ๆหลายอย่าง แต่ติดปัญหาสำคัญ คือ ภาควิชาไม่มีเงินของตัวเองที่จะนำไปใช้พัฒนาสิ่งใหม่ๆตามที่คิดไว้ได้ เพราะเพิ่งจะเริ่มก่อตั้ง ดังนั้นภารกิจสำคัญของผม คือ ต้องเร่งสร้างรายได้ให้แก่ภาควิชาก่อน ซึ่งมุ่งไปที่โครงการพัฒนาวิชาการเป็นหลัก เพราะในระเบียบฯมีการกำหนดสัดส่วนการแบ่งเงินรายได้ให้แก่ภาควิชาที่ชัดเจนและสูงพอควร ประกอบกับเป็นยุคที่ไมโครคอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทและแทนที่มินิคอมพิวเตอร์และเมนเฟรม ทำให้หน่วยงานของรัฐ และเอกชน ต่างประยุกต์ใช้งาน PC กันอย่างกว้างขวาง รวมทั้งมีซอฟท์แวร์สำเร็จรูปเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งภาควิชาฯมีศักยภาพและความพร้อมในการให้บริการสนับสนุน ผมจึงได้ช่วยหารายได้ให้แก่ภาควิชาด้วยการจัดฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ทางด้านคอมพิวเตอร์ และ เทคโนโลยีสารสนเทศ มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการรับเป็นที่ปรึกษาจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศแก่หน่วยงานภาครัฐ หลายแห่ง ซึ่งได้นำรายได้มาสู่ภาควิชาหลายล้านบาท

imageimage

หัวหน้าห้องปฎิบัติการวิจัยฐานข้อมูล

เมื่อหมดจากหน้าที่หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ผมก็เป็นอาจารย์สอนตามปกติแต่ไม่นานก็ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าห้องปฎิบัติการวิจัยฐานข้อมูล ที่ตั้งอยู่บนชั้น 5 ของอาคาร 1 ซึ่งต่อเติมขึ้นมาใหม่ เนื่องจากภาควิชาฯมีนโยบายให้อาจารย์ทุกคนกระจายกันไปสังกัดห้องปฎิบัติการวิจัยเฉพาะทางตามความถนัดและเชี่ยวชาญของแต่ละท่าน ซึ่งปัจจุบันมีไม่น้อยกว่า 10 หน่วย ภายในห้องนอกจากจะมีห้องย่อยเป็นที่ทำงานของอาจารย์แล้ว ยังมีสถานที่และอุปกรณ์เครื่องมือให้นิสิตทั้งปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษามานั่งทำโครงงานวิศวกรรม หรือ งานวิจัยวิทยานิพนธ์ หรือ งานบริการวิชาการ ทั้งนี้เพื่อให้มีการถ่ายทอดความรู้ มอบหมายงาน และ ติดตามงาน อย่างใกล้ชิด ซึ่งแต่ละห้องจะแบ่งกันรับนิสิตเข้ามาเป็นสมาชิกตามความสนใจและมีอาจารย์ประจำ 2-3 คน โดยมีอาจารย์อินทิราภรณ์ มูลศาสตร์ ซึ่งผมได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์พี่เลี้ยงเมื่อแรกเริ่มที่เข้ามาทำงานร่วมอยู่ด้วย ผลงานของห้องปฎิบัติการวิจัยฐานข้อมูลส่วนใหญ่จะเป็นที่ปรึกษาแก่นิสิตชั้นปีที่ 4 ในการทำโครงงานวิศวกรรม และ การพัฒนาโปรแกรมระบบฐานข้อมูลให้แก่หน่วยราชการภายนอก เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงบประมาณ สปก. กกท. สป.กษ. เป็นต้น

ประธานกรรมการดำเนินงานหลักสูตร ปริญญาโทสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ

ช่วงหนึ่งของการเป็นอาจารย์สังกัดภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ผมได้รับมอบหมายทำหน้าที่ประธานกรรมการดำเนินงานหลักสูตรปริญญาโทวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ MSIT ซึ่งเป็นช่วงที่ภาควิชามีปัญหาวิกฤตด้านสถานที่ทำการ เนื่องจากมีการขยายตัวรวดเร็วมากทั้งหลักสูตรที่เปิดสอน จำนวนอาจารย์ และ นิสิต ทำให้สถานที่ซึ่งมีอยู่ไม่เพียงพอ และ ระหว่างรอการก่อสร้างอาคารทำการหลังใหม่ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ จึงจำเป็นต้องมีสถานที่ทำการชั่วคราวที่เพียงพอเพื่อรองรับจำนวนนิสิต MSIT ซึ่งในขณะนั้นเป็นหลักสูตรที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากได้ ผมจึงได้ย้ายห้องเรียนและห้องทำการของโครงการ MSIT มาที่ชั้น 4 อาคารวิศวกรรมศาสตร์ 60 ปี เป็นการชั่วคราว และรับเป็นผู้บริหารโครงการตามวาระคือ 2 ปี โดยได้เพิ่มจำนวนนิสิตที่รับเข้าจากเดิมขึ้นอีก 10 % พร้อมทำเงินให้ภาควิชาเพิ่มขึ้นหลายล้านบาท ทั้งนี้เพื่อเอาไปเป็นทุนสร้างอาคารหลังใหม่

image

บทบาทสำคัญในการก่อสร้างอาคารทำการของภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ได้ย้ายที่ทำการมาแล้ว 3 ครั้ง เริ่มต้นด้วยการอาศัยชั้น 3-4 ของอาคารวิศวกรรมไฟฟ้าเป็นที่ทำการชั่วคราว ต่อมาย้ายมาอยู่ร่วมกันกับภาควิชาวิศวกรรมเคมี (อาคาร 1 ในปัจจุบัน) ซึ่งอยู่ได้ไม่นานก็พบว่าพื้นที่ใช้สอยไม่พอที่จะรองรับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาควิชา จึงได้ก่อสร้างอาคารทำการหลังใหม่เป็นของภาควิชาเองโดยเฉพาะโดยใช้เงินรายได้ของคณะฯ และภาควิชาสมทบกึ่งหนึ่ง ซึ่งผมได้มีส่วนรับผิดชอบในขณะที่เป็นรองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คือ ดำเนินการตั้งแต่ การวางผังพื้นที่อาคาร เป็นประธานคณะทำงานออกแบบก่อสร้าง และ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจการจ้าง

image

image

ข้อคิดจากการได้ทำงานที่ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

ผมทำงานในสังกัดภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์นานมากที่สุดถึง 22 ปี แต่โดยพฤตินัยแล้วในช่วงเวลาดังกล่าวได้มารับตำแหน่งรองคณบดี และ คณบดีคณะวิศวฯ หลายปีมาก จึงทำให้เหินห่างจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ไปบ้าง แต่ก็ยังมาร่วมกิจกรรมสำคัญๆของภาควิชาอยู่เสมอ

imageimage

ประสบการณ์จากการทำงานที่ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ได้ให้ข้อคิดหลายอย่าง ดังนี้

ทำไมผมจึงได้มาเป็นหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คนแรก

เมื่อเริ่มตั้งภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์นั้น มีการทาบทาม รศ.ยืน ภู่วรวรรณ มาเป็นหัวหน้าภาควิชาคนแรก เพราะท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมากทั้งภายในและภายนอก ทำให้สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. เป็นที่รู้จักและนิยมในหมู่นักเรียนและนิสิตที่อยากจะเข้ามาศึกษา

แต่ท่านก็ได้ ปฎิเสธในการจะรับตำแหน่งดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าการเป็นผู้บริหารเต็มตัวนั้นอาจจะไม่ถนัดและต้องเปลืองเวลาที่ควรไปใช้ในการสอน การทำวิจัย เขียนตำรา หรือ งานวิชาการอื่น ๆ ที่ท่านชอบและถนัดซึ่งมีอยู่มากมายรัดตัว ท่านจึงเสนอให้ผมรับหน้าที่หัวหน้าภาควิชาจะเหมาะสมกว่า เนื่องจากมีประสบการณ์ในด้านบริหารมาบ้างแล้ว ผมเองเข้าใจและน้อมรับในแนวคิดนี้เป็นอย่างมาก เพราะเห็นว่าหากเราเอาคนเก่งเรื่องการสอน และวิจัย มาทำเป็นผู้บริหารแล้ว อาจจะทำให้เสียโอกาสของท่านในการผลิตงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์เช่นที่เคยสร้างชื่อเสียงไว้ไป ซึ่งส่วนใหญ่การเลือกหัวหน้าภาควิชาของคณะวิศวฯมักจะหมุนเวียนกันและมักจะเป็นผู้ที่จบการศึกษาปริญญาเอกแล้ว โดยไม่สนใจว่ามีพื้นฐานด้านการบริหารหรือไม่ ถือว่าให้ไปเรียนรู้เอาเองข้างหน้า ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในการทำงานบ่อยครั้ง และ คิดจะทำอะไรก็ติดขัดและล่าช้าไปหมด ทางที่ดีผมเห็นว่าควรเลือกหัวหน้าภาควิชาไว้ล่วงหน้า โดยต้องให้มาทำหน้าที่เป็นรองหัวหน้าภาควิชาสักวาระหนึ่งก่อน เพื่อเรียนรู้งาน ซึ่งน่าจะเป็นการเหมาะสมมากกว่า

imageimage

การให้อาจารย์ทุกคนสังกัดห้องปฎิบัติการวิจัยเฉพาะทางนั้นมีผลดีอย่างมาก

หลักการให้อาจารย์สังกัดและอยู่ประจำห้องปฎิบัติการวิจัยเฉพาะทางนั้น มีมาตั้งแต่สมัยการก่อตั้งห้องปฎิบัติการวิจัยไมโครคอมพิวเตอร์แล้ว คือ ให้อาจารย์ที่สนใจทางด้านคอมพิวเตอร์ 4-5 คนเข้ามาสังกัดทั้งหมด มีการทำงานร่วมกันเป็นทีมที่ดีมากในทุกๆกิจกรรม โดยมีนิสิตประมาณรุ่นละ10-15 คน ที่สนใจมาช่วยทำงานและวิจัยในห้องปฎิบัติการในยามที่ว่าง ทำให้มีความใกล้ชิดสนิทสนมและผูกพันระหว่างอาจารย์กับนิสิตมาก ซึ่งได้สร้างผลงานและชื่อเสียงจากการได้รับรางวัลต่างๆในระดับชาติไว้มากมายจนนับไม่ถ้วน

imageimage

ดังนั้นเมื่อเติบโตมาเป็นภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จึงได้นำหลักการดังกล่าวมาใช้ โดยแบ่งออก เป็นห้องปฎิบัติการวิจัยเฉพาะทางด้านต่างๆ มากขึ้น แต่ละห้องจะมีอาจารย์ช่วยกันดูแลรับผิดชอบประมาณ 2-4 คน ตามความถนัดและเชี่ยวชาญ นิสิตที่เข้ามาสังกัดก็มีทั้งระดับปริญญาตรีและ ปริญญาโท-เอก ซึ่งอยู่ทำงานกันเกือบตลอดทั้งวันและทั้งคืนในช่วงวิกฤติ จึงทำให้อาคารภาควิชาฯไม่เคยหลับ มีแสงไฟสว่างไสวปรากฏให้เห็นตลอดทั้งคืน ยังผลให้มีผลงานเด่นๆ ทั้งของอาจารย์และนิสิตปรากฏออกมาอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนห้องปฎิบัติการวิจัยฐานข้อมูลที่ผมสังกัดและมีห้องทำงานอยู่ข้างในนั้น มีนิสิตทั้งภาคปกติและภาคพิเศษประมาณ 15 คน เรามีความสนิทสนมกันดีมาก เพราะเห็นหน้ากันทุกวัน ช่วงใดผมมีงานมากหรือไปรับงานบริการวิชาการจากหน่วยงานของรัฐภายนอกมา ก็ให้นิสิตช่วยทำ และบางงานก็พัฒนาขึ้นเป็นโครงงานวิศวกรรมนิสิตชั้นปีที่ 4 ได้ จึงมีความผูกพันกันมากขึ้น จำได้ว่าเมื่อนิสิตจบการศึกษาก็ยังไม่จากห้อง Lab. และ ผมไปหางานทำที่อื่น โดยหลายคนยังขอทำงานอยู่กับผมต่อถึง 3-4 ปี ก่อให้เกิดบรรยากาศทางวิชาการที่ดีมากในห้องปฎิบัติการวิจัย และภาควิชา ซึ่งน่าจะเป็นข้อคิดและแบบอย่างที่ดีแก่ภาควิชาอื่นๆ

แต่เมื่อย้ายที่ทำการมาอยู่ที่อาคารหลังใหม่ แม้ว่ายังคงหลักการเดิม คือ ให้อาจารย์สังกัดห้องปฎิบัติการวิจัยเฉพาะทางอยู่ก็ตาม แต่ได้กำหนดผังการใช้พื้นที่ของอาคารโดยให้ห้องพักหรือห้องทำงานของอาจารย์กลับมาอยู่ที่เดียวรวมกันหมด แทนที่จะวางผังให้ห้องพักอาจารย์แต่ละท่านแยกกันไปอยู่ในห้องปฎิบัติการวิจัยเฉพาะทางที่สังกัด ซึ่งผมก็ทราบดีว่าอาจจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ที่ผมเห็นข้อแตกต่างได้ชัดเจนคือห้องปฎิบัติการวิจัยใดที่มีห้องพักของอาจารย์ไปนั่งทำงานอยู่ประจำภายในห้องนั้นด้วยแล้ว จะสร้างผลงานปรากฏออกมาดีเด่นกว่าทั้งปริมาณและคุณภาพ ซึ่งสอดคล้องกับที่ผมเห็นจากภาควิชาอื่นๆที่ได้มีการจัดโครงสร้างห้องทำงานของอาจารย์แบบนี้บ้างเช่นเดียวกัน จึงเป็นข้อคิดให้ลองพิจารณาดูว่าจะเอาแบบไหนดี

ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่นิยมของนักเรียน เพราะอะไร?

imageimageimage

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น มีชื่อเสียงอยู่ในระดับชั้นนำของประเทศ เป็นที่สนใจของนักเรียนและนิสิตนักศึกษาที่อยากเข้ามาศึกษาต่อ ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ก่อนและเริ่มก่อตั้งภาควิชา และสืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันก็ยังได้รับความนิยมสูงอยู่ เมื่อวิเคราะห์ดูว่าเพราะอะไรที่นิสิตจึงอยากมาเรียนที่นี่ ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบันก็มีสถาบันการศึกษาอื่น ๆซึ่งเปิดสอนทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศมากมาย คำตอบคือนอกจากภาควิชาจะมีรศ.ยืน ภู่วรวรรณ ซึ่งคนในวงการคอมพิวเตอร์รู้จักและยอมรับแล้ว ผลงานของท่านและภาควิชาฯยังออกสู่ตลาดและใช้งานได้จริง เริ่มตั้งแต่การพัฒนาการประมวลผลภาษาไทยบนไมโครคอมพิวเตอร์ การพัฒนาเวิร์ดโปรเซสเซอร์ภาษาไทยตัวแรกๆ ของประเทศ ที่ใช้งานบนไมโครคอมพิวเตอร์ 8 บิท ซึ่งตั้งชื่อว่า “ขวัญใจนักพิมพ์ดีด” นั้น ได้ใช้งานกันแพร่หลาย และ เป็นขวัญใจจริงๆ สำหรับอาจารย์อย่างผมที่เคยใช้งานเครื่องพิมพ์ดีดพิมพ์งานเป็นประจำมาก่อน ได้มีการพัฒนารหัสภาษาไทย “เกษตร” ซึ่งนิยมใช้กันแพร่หลายในระยะหนึ่งก่อนที่จะมีรหัส สมอ.มาแทนที่ ในขณะที่อาจารย์ในภาควิชาได้เป็นกองบรรณาธิการ วารสารไมโครคอมพิวเตอร์ และ ร่วมกันผลิตหนังสือ ตำรา ทางด้านคอมพิวเตอร์ ออกสู่ท้องตลาด มากมายหลายเล่ม

ความนิยมที่มีต่อภาควิชายังมาจากการที่อาจารย์และนิสิตได้ร่วมกันจัดกิจกรรมประกวดแข่งขันต่าง ๆทางด้านคอมพิวเตอร์แก่

นักเรียน รวมทั้งการจัดค่ายเยาวชนสมองแก้ว ค่ายคอมพิวเตอร์โอลิมปิค ค่ายคิวบิคโรโบโค๊ต ค่ายเยาวชนไทยก้าวไกลกับไอที และ อื่นๆ อีกมากมาย

และที่สำคัญมากที่สุดในการสร้างชื่อเสียงแก่ภาควิชา คือ การที่นิสิตและอาจารย์ของภาควิชาได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดแข่งขันในระดับชาติและนานาชาติเป็นจำนวนมาก

imageimageimage

ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนมีส่วนสำคัญในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภาควิชาให้สังคมภายนอกรู้จักเป็นอย่างดี

เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เปลี่ยนแปลงเร็วมาก หากไม่ใฝ่รู้จะตามไม่ทัน

imageimageimage

เมื่อมารับหน้าที่คณบดีคณะวิศวฯในสมัยแรก ผมยังช่วยทำการสอนอยู่ทั้งระดับปริญญาตรีและโท แต่ในสมัยที่ 2 ผมได้ขอไม่สอนเลยจะดีกว่าด้วยเหตุผล คือ นอกจากจะไม่มีเวลาและทำให้คุณภาพการสอนด้อยลงแล้ว วิชาการและเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์นั้นเปลี่ยนแปลงเร็วมากจนผมไม่มีเวลาศึกษาตามได้ทัน ความรู้และประสบการณ์ที่มีมาก็ไม่สามารถนำมาใช้ในวิชาที่เคยสอนอยู่ประจำได้ ต้องศึกษาและเตรียมตัวกันใหม่ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างมาก แต่ถ้าหากกลับไปสอนวิชาทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้ายังพอได้ เพราะหลายปีผ่านไปเนื้อหาก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก จึงเป็นข้อคิดให้แก่อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่ต้องขยันและหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้ที่มีคอมพิวเตอร์ไว้ใช้งานก็เช่นกันคือเมื่อซื้อเครื่องแล้ว ต้องใช้งานทุกวันให้คุ้มค่ามิเช่นนั้นก็จะล้าสมัย และต้องหมั่นใฝ่รู้ติดตามความก้าวหน้าอยู่เสมอ

ถูกฝึกให้เป็นคนที่มีความละเอียด อดทน และ รอบคอบในการทำงานมากขึ้น

การได้ทำงานประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์กับระบบสารสนเทศต่าง ๆหลายปี ทำให้ผมมีอุปนิสัยที่ละเอียดและรอบคอบมากขึ้น เช่น งานทะเบียนและประมวลผลการเรียนของนิสิต ที่ผมเคยมีส่วนรับผิดชอบนั้น จะเกิดข้อผิดพลาดขึ้นไม่ได้เลย ซึ่งความถูกต้องในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์นั้นขึ้นอยู่กับโปรแกรมสั่งการที่คนเป็นผู้พัฒนาขึ้นมา หากคนสั่งไม่ถูกและไม่มีความละเอียดและรอบคอบแล้วโอกาสที่จะเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมีสูงมาก การเขียนโปรแกรมประมวลผลข้อมูลบางอย่างนั้นอาจไม่ยากในทางเทคนิค แต่ผลที่เกิดขึ้นกับผู้ทำงานนั้นยิ่งกว่าการปิดทองหลังพระเสียอีก คือ กว่าจะเสร็จสิ้นลงได้ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในหลายกระบวนการ ตั้งแต่การตามข้อมูลดิบมาให้ได้ครบหรือมากที่สุด การหาวิธีกลั่นกรองข้อมูลดิบที่ไม่ถูกต้องออกไปตรวจทานมาใหม่ การควบคุมดูแลการป้อนข้อมูลดิบเข้าสู่ระบบให้ถูกต้องและสมบูรณ์ การพัฒนาโปแกรมคอมพิวเตอร์ให้ประมวลผลได้ถูกต้องตามขั้นตอนต่าง ๆ และ การตรวจสอบการพิมพ์รายงานผลที่จะแจกจ่ายไปยังผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งหากผลลัพธ์สุดท้ายที่ออกมาถูกต้องและทันเวลาแล้วผู้นำไปใช้งานจะพึงพอใจ แต่ไม่เคยจะได้ยินใครชมและนึกถึงเบื้องหลังของที่มาว่าลำบากอย่างไร ตรงกันข้ามหากผลที่ได้ไม่สมบูรณ์หรือมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อยก็มักจะมีการตำหนิ ต่อว่า หรือร้องเรียนมาจากหลายฝ่าย บางกรณีก็เป็นเรื่องที่ใหญ่โตและทำให้ผู้ทำเสียขวัญกำลังใจไปมาก อีกทั้งยังมีหลายคนที่ไม่เข้าใจ คิดว่าคอมพิวเตอร์นั้นฉลาดไปหมดทุกอย่าง ดังนั้นคนทำงานคอมพิวเตอร์ต้องอดทน และทำใจกับสิ่งเหล่านี้ และ ต้องคิดหาวิธีการป้องกันข้อผิดพลาดให้ได้มากที่สุด

ปัญหาจากการไปช่วยทำงานให้ส่วนกลางของมหาวิทยาลัย

ผมเคยไปช่วยงานที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ ของมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งในขณะนั้นสังกัดสถาบันวิจัยและพัฒนาได้ประมาณ 3 ปี ถึงแม้จะเหนื่อยแต่ก็สนุกและได้ประสบการณ์ที่ดีมากแต่พบว่าเริ่มจะมีปัญหากับความก้าวหน้าในตำแหน่งและเงินเดือนที่ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าซึ่งเป็นต้นสังกัด ทั้งนี้เพราะผมไปแบบเต็มตัว คือใช้เวลาราชการส่วนใหญ่กับงานที่ศูนย์คอมพิวเตอร์แทบทั้งหมด จึงเหลือเวลาทำงานในภาควิชาน้อยมาก หรือเพียง แต่สอนวิชาตามที่มอบหมายเท่านั้น ดังนั้นโอกาสที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนเงินเดือน 2 ขั้น หรือ สูง ๆ แทบจะไม่มี ซึ่งผมก็เข้าใจและไม่ได้โต้แย้งหรือร้องเรียนแต่อย่างใด เพราะภาควิชาไม่ได้เป็นผู้ส่งตัวไปทำงาน แต่ผมอยากไปเอง หรือ ส่วนกลางขอตัวมาและภาควิชาไม่ขัดข้อง ซึ่งผลกระทบเช่นนี้ได้เกิดขึ้นกับอาจารย์ในภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์อื่นๆอีกหลายท่านที่ไปช่วยงานส่วนกลางของมหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา เนื่องจากเป็นภาควิชาที่มีอาจารย์ไปช่วยงานของ สถาบัน สำนัก วิทยาเขต หรือ หน่วยงานส่วนกลางอื่นๆ ค่อนข้างมาก ผมจึงฝากเป็นข้อคิดไว้ว่า เมื่อทราบปัญหาเช่นที่กล่าวแล้ว ก่อนที่จะไปต้องตัดสินใจให้ดี ถึงผลได้และผลกระทบที่ตามมา และไม่ควรไปนาน หรือ ไปนั่งทำงานอยู่ประจำ

image

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น